"เศรษฐกิจไทยวิกฤต" ต่างจังหวัดกำลังซื้อหดตัวถึงขั้นนิ่งสนิท

17 กรกฎาคม 2567
"เศรษฐกิจไทยวิกฤต" ต่างจังหวัดกำลังซื้อหดตัวถึงขั้นนิ่งสนิท

"เศรษฐกิจไทยวิกฤต" ต่างจังหวัดกำลังซื้อหดตัวถึงขั้นนิ่งสนิท หลังฐานเศรษฐกิจลงพื้นที่สำรวจพบประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย เลือกซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค

สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้อาการน่าเป็นห่วง โดยก่อนหน้านายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในฐานะที่ดูเศรษฐกิจต่างจังหวัดต้องบอกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศแย่มาก 

ทั้งนี้ ทุกคนต่างบ่นกันหมด ต่างจังหวัดเงียบมาก กรุงเทพก็เงียบ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากภายในก็แย่ ขณะที่ผลกระทบจากต่างประเทศก็กดดันสูง โดยเฉพาะกับจีน 
 
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร.ยังแสดงจุดยืนชัดเจน คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หากยังยืนยันจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะได้เห็นสัญญาณอันตรายยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SMEs) อาจได้เห็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น   

“สงครามการค้าทำให้สินค้าจีนถูกต่อต้าน มีผลต่อการส่งออกของไทยประมาณ 20% นี่คือสัญญาณอันตราย เรียกว่าภายในก็แย่ ปัจจัยภายนอกก็มากดดัน ยิ่งหากมาปรับขึ้นค่าแรงวันที่ 1 ต.ค. เท่ากับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ในรอบปี ไม่มีประเทศใดที่จะปรับขึ้นค่าแรง 3 ครั้งต่อปี เพราะตามกฎหมายให้แค่ 1 ครั้งต่อปี"

นายทวี กล่าวต่อไปอีกว่า เรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ยิ่งตอนนี้โรงงานปิดไปแล้วใกล้ๆจะพันแห่ง เลิกจ้างไปจำนวนมาก หากเกิดมีเหตุการณ์นี้อีกนับว่าเป็นสัญญาณอันตรายอย่างมาก โดยผลสำรวจค่าแรงวันนี้เอกชนเกิน 70% ไม่ต้องการให้มีการปรับ
 
ขณะที่นายนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง อดีตผู้ประกอบการเหล็กผู้ล้มละลายจากวิกฤติต้มยำกุ้ง เจ้าของวลีดัง "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ระบุว่า เศรษฐกิจเวลานี้น่าเป็นห่วงมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งมาก เพราะเป็นกันทั้งโลก แต่ที่ผ่านมามีจุดเริ่มต้นมาจากต้มยำกุ้งก่อนที่จะเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ตามมา แต่ไม่ได้กระทบกับทั้งโลกเหมือนปัจจุบัน 
 
โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้หลังจากที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ไม่นาน ก็เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังจากนั้นก็มีสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสตามมา เพราะฉะนั้นจึงหนักหนาสาหัสกว่ากันมาก

ส่วนสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศของทุกประเทศที่เคยเซ็นร่วมกันไว้ เวลานี้ก็ใช้ไม่ได้ เนื่องจากต่างคนต่างใช้นโยบายการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเว้นภาษีขาเข้าที่เคยเอื้ออารีต่อกันปัจจุบันก็แทบจะไม่มีแล้ว   

จากประเด็นดังกล่าว "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่าต่างตอบไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อหดหาย

พ่อค้าที่ตลาดเช้าอำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีษะเกษ ระบุว่า ปัจจุบันพ่อค้า แม่ค้าที่มาขายของหายไปเยอะมาก ทำให้ตลาดดูเงียบเหงา เนื่องจากผู้ซื้อไม่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอบ จึงไม่มาเลือกซื้อสินค้าในตลาด จะซื้อเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นเท่านั้น

จากสถานการร์ดังกล่าวทำให้พ่อค้า แม่ค้าหลายรายหยุดกิจการ และมาขายบ้างเฉพาะช่วงที่เป็นวันหยุด ซึ่งคาดว่าจะมีคนออกมาซื้อของเพิ่มมากขึ้น 

"เวลานี้ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเน้นซื้อเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น โดยหากเป็นอาหารก็จะเลือกซื้อวัตถุดิบนำไปปรุงรับประทานเอง ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดกว่าการซื้ออาหารสำเร็จรูป เพราะได้ปริมาณมากกว่า และสามารถรับประทานได้หลายคน หรือหลายมื้อ" 

แม่ค้ารายหนึ่งที่ตลาดอำเภออุทุมพรพิสัย ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้มาเดินตลาดเพื่อซื้อสินค้าน้อยลงมาก อีกทั้งปริมาณในการซื้อก็ดูลดลงจากที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่บอกว่าต้องการประหยัดเงินในกระเป๋า เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี หรือเรียกว่านิ่งสนิท

ผู้บริโภครายหนึ่งที่ตลาดอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ระบุว่า ปกติจะมาเดินตลาดเกือบทุกวันเพื่อหาซื้ออหาหารสำเร็จรูปรับประทาน แต่ในระยะหลังจะเว้นระยะห่างกว่าเดิม เพราะราคาค่าน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเลือกซื้อวัตถุดิบไปทำอาหารรับประทานเองบ้าง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยซื้อของฟุ่มเฟือยน้อยลง

สอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้บริโภคอีกรายที่ตลาดร้อยปี อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งระบุว่า ปัจจุบันมีการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี และดูมีความไม่แน่นอน อีกทั้งยังมีความกังวลเรื่องของหน้าที่การงาน ซึ่งไม่รู้ว่าอาจจะโดนให้ออก หรือบริษัทจะถึงขั้นปิดกิจการหรือไม่

"ทุกวันนี้ก็เลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็น ของที่ฟุ่มเฟือยก็พยายามหลีกเลี่ยง ส่วนของรับประทานที่ไม่สามารถเลือกได้ ก็เน้นอาหารจานเดียว ไม่ค่อยออกไปสังสรรค์กับกล่มเพื่อน หรือรับประทานร้านอาหาร"


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.